top of page

ตากุ้งยิง


ตากุ้งยิง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นส่วนใหญ่ โดยการอักเสบมักเริ่มจากท่อทางออกของต่อมบริเวณหนังตาที่เกิดการอุดตัน ส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในต่อมเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ จึงก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าวตามมา แล้วตามมาด้วยการบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี (สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการมีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตาก่อน แล้วผู้ป่วยเผลอไปใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา จนทำให้ต่อมที่เปลือกตาอุดตันและเกิดการอักเสบตามมา) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เป็นตากุ้งยิงได้ง่าย เช่น 1. ไม่รักษาความสะอาด เช่น ปล่อยให้มือ ใบหน้า ผิวหนัง หรือเสื้อผ้าสกปรก (มักพบโรคนี้ในคนที่ชอบขยี้ตา ผู้ที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาดของใบหน้า ใช้เครื่องสำอางที่ใบหน้าและดวงตา สวมใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก) 2. ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า หรือมีใบหน้ามัน จึงทำให้เกิดการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้ารวมทั้งหนังตาได้สูงกว่าปกติ 3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเข สายตาเอียง รวมถึงมีการอักเสบบริเวณหนังตาอยู่บ่อย ๆ 4. มีสุขภาพทั่วไปไม่ดีนัก เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ขาดอาหาร อดนอน ฟันผุ 5. มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง (ตากุ้งยิงมักพบในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนในวัยผู้สูงอายุจะพบได้น้อย ถ้าพบกุ้งยิงในวัยผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องตรวจเช็คร่างกาย ซึ่งอาจพบโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง) อาการของตากุ้งยิง 1. อาการของตากุ้งยิงส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีอาการเคืองตาหรือคันตาคล้ายมีผงอยู่ในตาในบริเวณใกล้เคียงจะเกิดตุ่มฝี อาจมีน้ำตาไหล ทำให้ผู้ป่วยต้องขยี้ตาเสมอ ต่อมาอีก 1-2 วันจะเริ่มบวมแดง เจ็บเล็กน้อย ถ้าไม่ได้รับการรักษา บริเวณที่ปวดนั้นจะขึ้นเป็นตุ่มแข็ง เมื่อแตะถูกจะเจ็บ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่ามีอาการปวดที่บริเวณเปลือกตา ในลักษณะปวดแบบตุบ ๆ เฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง เมื่อก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น ต่อมาตุ่มฝีจะค่อย ๆ นุ่มลง มีหนองนูนเป่ง เห็นเป็นหัวขาว ๆ เหลือง ๆ หลังจากนั้นหนองจะแตกและยุบไป นอกจากนี้ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีขี้ตาออกมากผิดปกติหรือมีขี้ตาไหล เปลือกตาบวม ปวดตา หรือตาแดง 2. โดยมากกุ้งยิงมักจะขึ้นเพียงตุ่มเดียว อาจจะเป็นที่เปลือกตาบนหรือล่างก็ได้ น้อยคนนักที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน 2-3 ตุ่ม 3. ถ้ากุ้งยิงขึ้นบริเวณหางตามักจะมีอาการรุนแรง อาจทำให้หนังตาบวมแดงจนตาปิด 4. ถ้าปล่อยทิ้งไว้ 4-5 วันต่อมา ตุ่มฝีมักจะแตกเอง แล้วหัวฝีจะยุบลงและหายปวด ถ้าหนองระบายออกได้หมดก็จะยุบหายไปภายใน 1 สัปดาห์ (ในบางรายที่ตุ่มฝีแตกและมีหนองไหลออกมา หากเชื้อรุนแรงหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ อาจก่อให้เกิดการอักเสบกระจายบริเวณโดยรอบก้อนและแผ่กว้างออกไป ซึ่งในระยะนี้จะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น และเด็กบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย) 5. ในผู้ป่วยที่เคยเป็นตากุ้งยิงมาแล้วครั้งหนึ่ง อาจจะมีอาการกำเริบแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาจจะเป็นตรงจุดเดิม หรือย้ายที่ หรือสลับข้างไปมาก็ได้ รศ.พญ.มัญชิมา มะกรวัฒนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

bottom of page