top of page

อันตรายของสมาร์ทโฟนที่มีต่อดวงตาของเรา


มีข่าวออกมาเรื่อยๆนะคะ สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับอันตรายของสมาร์ทโฟนที่มีต่อดวงตาของเรา

ล่าสุดก็มีการแชร์กันเรื่องที่สมาร์ทโฟนเป็นต้นเหตุทำให้น้องตาเขจนถึงขั้นตัองเข้ารับการผ่าตัด

แต่ทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยก็ออกมาชี้แจงแล้วว่า ข้อมูลจากงานวิจัยทางการแพทย์ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า สมาร์ทโฟนทำให้เด็กตาเขจริงหรือไม่

แต่ผลเสียต่อสุขภาพที่เรารู้กันแน่ๆแล้วก็คือ การใช้สมาร์ทโฟนอาจทำให้มีอาการ

1. ปวดตา ปวดหัว เพราะเวลาเราอ่านตัวหลังสือเล็กๆจากหน้าจอ จะทำให้กลัามเนื้อบริเวณศีรษะ คอ และไหล่เกิดอาการเกร็งตัว

2. ตามัว เพราะกล้ามเนื้อตาเกิดอาการอ่อนล้า

3. ตาแห้ง ปกติคนเราจะกระพริบตาประมาณทุก 4 วินาที แต่เวลาที่เราจ้องจอโทรศัพท์ เรามักจะกระพริบน้อยลงกว่านั้นประมาณครึ่งนึง

4. นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอ ซึ่งการนอนหลับไม่สนิทก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่จะตามมาอีกหลายอย่าง ตั้งแต่อ้วน ความจำไม่ดี ไปจนถึงเป็นโรคซึมเศร้าได้

นอกจากนี้แล้ว เด็กๆที่ใช้เวลากับสมาร์ทโฟน รวมถึงหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดมากเกินไป ก็จะมีเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆกับครอบครัวและสังคมลดลง

ซึ่งอาจจะทำให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมเมื่อโตขึ้นได้

หรืออาจจะทำให้เด็กมีเวลาในการทำการบ้านและทบทวนบทเรียนน้อยลง ทำให้มีปัญหากับการเรียนได้ ดังนั้น วิธีแก้ไขก็คือ

1. เลิกใช้สมาร์ทโฟน… ถือว่าเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด แต่ถ้าใครทำได้ก็รบกวนช่วยแนะนำหมอด้วยละกันนะคะ

2. ใช้สูตร 20-20-20 คือ ทุกๆ 20 นาที มองอะไรก็ได้ที่อยู่ห่างออกไปอย่างน้อย 20 ฟุต (ประมาณ 7 เมตร) เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที วิธีนี้จะช่วยลดปัญหาปวดหัว ปวดตา และตามัวได้

3. อย่าลืมกระพริบตาบ่อยๅ เพื่อไม่ให้ตาแห้ง

4. ไม่ใช้สมาร์ทโฟนก่อนนอน หรือถ้าใช้ก็ปรับลดแสงสีฟ้าลง เช่น ใช้โหมด Night Shift

5. สำหรับเด็กๆ เราอาจจะตั้งกฏให้เค้าไปเลยว่า ให้ใช้สมาร์ทโฟนได้เมื่อไหร่ และไม่ควรใช้นานเกินเท่าไหร่ เพื่อเป็นการฝึกวินัยน้องๆไปในตัวด้วย (ผู้ใหญ่ก็สามารถนำวิธีนี้ไปใช้ได้ แต่หมอคิดว่าคงไม่ค่อยจะได้ผลเท่าไหร่)

6. หากิจกรรมอย่างอื่นทำ โดยเฉพาะกิจกรรมกลางแจ้ง เล่นกีฬา กิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว เพื่อให้เด็กๆไม่มีเวลามาหมกมุ่นกับหน้าจอมากเกินไป

สมาร์ทโฟนก็เหมือนกับทุกๆอย่าง ที่ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

อยู่ที่เราเลือกที่จะมองหรือว่าใช้ประโยชน์จากมันอย่างไรค่ะ

หมอแนน รศ.พญ.มัญชิมา มะกรวัฒนะ

เครดิตภาพ: https://stressfreekids.com

บทความที่เกี่ยวข้อง

bottom of page