top of page

เราควรสู้จนสุดความสามารถ ตราบใดที่ยังมีความหวัง


หมอมักจะได้รับคำถามจากทั้งคนไข้และหมอตาด้วยกันอยู่เรื่อยๆว่า คนไข้ที่มีความหวังในการมองเห็นเหลือน้อยขนาดนี้ คุ้มเสี่ยงที่จะทำการผ่าตัดหรือ?

แน่นอนว่า ในโรคตาบางชนิด เช่น โรคต้อกระจก การมองเห็นชัดแบบ 100% อาจเป็นเป้าหมายสูงสุดของการรักษา แต่สำหรับบางโรค เช่น โรคต้อหิน การคาดหวังผลการรักษาแบบนั้นอาจจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในคนไข้ที่เป็นโรครุนแรงมากๆ โอกาสที่ผ่าตัดแล้วจะกลับมามองเห็นได้ดีขึ้นกว่าเดิมนั้นแทบจะไม่มีเลย

แล้วคนไข้แบบนี้ คุ้มเสี่ยงที่จะรักษาโดยการผ่าตัดหรือไม่?

หมอขออนุญาตเล่าถึงคนไข้ต้อหินคนนึงให้ฟัง คนไข้คนนี้รักษามาแล้วหลายที่ ตาข้างหนึ่งบอดสนิทจากต้อหินไปแล้ว ส่วนตาอีกข้างเหลือการมองเห็นอยู่น้อยมาก คนไข้หยอดยาต้อหินอยู่สี่ชนิด แต่อาการก็ยังแย่ลงอย่างช้าๆ ทุกคนลงความเห็นว่ารักษาเต็มที่จนหมดหนทางแล้ว ตาข้างที่เหลืออยู่อีกข้างก็คงจะค่อยๆบอดไปในที่สุด

หมอแนะนำให้คนไข้ผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตา (เหมือนกับการผ่าต้อกระจก) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่ายและมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลแทรกซ้อนสูงในคนไข้ต้อหินที่มีความดันตาสูงจนคุมไม่ได้แบบนี้ แต่หมอมองว่ามันเป็นวิธีเดียวที่ยังพอจะมีหวังอยู่ ที่อาจจะสามารถรักษาการมองเห็นของคนไข้คนนี้ไว้ได้

หลังผ่าตัด ความดันตาก็ลดลงตามคาด เนื่องจากน้ำในตาระบายออกได้ดีขึ้น คนไข้สามารถลดยาหยอดตาลงเหลือแค่ชนิดเดียว ปรากฏว่าคนไข้มองเห็นได้ชัดดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เพราะอาการเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากใช้ยาหยอดตาสี่ชนิดนั้นได้หายไป

หมอมีความเชื่อว่า คนเราทุกคนมีโอกาสและต้องมีความหวัง เราต้องสู้จนสุดความสามารถ ตราบใดที่ยังมีความหวังเหลืออยู่แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม

แต่การรักษาทุกอย่างมีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดในเคสที่ยากๆ เพราะฉะนั้น หมอกับคนไข้รวมทั้งญาติ จะต้องคุยกันเรื่องความคาดหวังในผลการรักษา และความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นให้เข้าใจกันเป็นอย่างดีเสียก่อน

คนที่มีปัญหาเรื่องการสูญเสียการมองเห็นนั้นการได้เห็น แม้เพียงแสงน้อยนิด แค่เพียงสามารถแยกได้ว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ก็ยังดีกว่าปล่อยไปเรื่อยๆจนตาบอดสนิท มองไม่เห็นอะไรเลย สำหรับหมอแล้ว มันคุ้มที่เราจะไม่ยอมแพ้ และสู้อย่างสุดความสามารถค่ะ

หมอแนน รศ.พญ. มัญชิมา มะกรวัฒนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

bottom of page