top of page

อันตรายจากแสงสีฟ้า


โดยปกติแล้วแสงสว่างที่ตาของเรามองเห็นนั้น เกิดจากคลื่นแสงที่มีความถี่ต่างๆกันหลายสีมารวมกัน ได้แก่ คลื่นแสงสีแดง, สีส้ม, สีเหลือง, สีเขียวและสีฟ้า

คลื่นแสงสีฟ้ามีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสาม และเป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานมากที่สุดของคลื่นแสงทั้งหมดที่เรามองเห็น

คลื่นแสงที่มีความถี่มากกว่าแสงสีฟ้า และมีพลังงานมากกว่า แต่ตาเรามองไม่เห็น ก็คืออัลตร้าไวโอเล็ต หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า UV นั่นเอง

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า UV นั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ UV เป็นสาเหตุที่ทำให้ผิวคล้ำเสีย หรือเกิด Sunburn เมื่อโดนแสงแดดนานๆ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต้อลม ต้อเนื้อ และต้อกระจก การจ้องแสงแดดที่สว่างมากๆหรือการจ้องมองดวงอาทิตย์โดยตรง จะทำให้เกิดอาการเหมือน sunburn ที่ตา เรียกว่า photoketatitis ซึ่งอาจจะถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ นั่นก็เกิดจาก UV

ส่วนแสงสีฟ้านั้น ถึงแม้ว่ามีพลังงานน้อยกว่า UV แต่ก็อาจจะทำอันตรายต่อดวงตาเราได้เช่นกัน แสงสีฟ้ามีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด หรือหลอดไฟชนิดต่างๆ รวมทั้งจอคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

ในปัจจุบัน การที่เราต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟนบ่อยๆในชีวิตประจำวัน โดยการจ้องมองจอในระยะใกล้วันละหลายๆชั่วโมง ทำให้เกิดความกังวลว่า แสงสีฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากอุปกรณ์เหล่านี้ อาจก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวต่อสุขภาพดวงตาของเราได้

โดยธรรมชาติแล้ว กระจกตาและเลนส์แก้วตาของเราจะสามารถกรอง UV ได้มากกว่า 99% เพื่อไม่ให้เข้าไปทำอันตรายต่อจอประสาทตา (แต่ UV ก็จะทำให้เกิดการโรคหรือการอักเสบที่กระจกตา และการขุ่นมัวของเลนส์แก้วตาหรือต้อกระจกได้)ในขณะที่แสงสีฟ้าเกือบทั้งหมดจะสามารถผ่านเข้าไปถึงจอประสาทตาได้ และในระยะยาวอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ นอกจากนั้น แสงสีฟ้ายังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดตา เมื่อเราต้องอยู่หน้าจอนานๆ

แสงสีฟ้าจากแสงแดดตามธรรมชาตินั้น มีส่วนสำคัญในการปรับเวลากลางวันกลางคืนของสมองของคนเรา ดังนั้นการที่เราจ้องมองดูหน้าจอในเวลากลางคืนก่อนนอน จึงอาจมีผลทำให้นอนหลับไม่สนิทได้ การนอนหลับไม่สนิทเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานและการเรียน อาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งนำไปสู่การเป็นโรคอ้วนได้

เราสามารถจะลดปริมาณแสงสีฟ้าจากหน้าจอ ซึ่งจะช่วยถนอมดวงตาของเราได้หลายวิธี ใช้ฟิลเตอร์สำหรับกรองแสงสีฟ้า ใส่แว่นกรองแสงสีฟ้าเวลาทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรี่แสงหน้าจอให้สว่างพอเหมาะ ปรับโทนสีหน้าจอให้ warm มากขึ้น ปรับจอให้เป็น night shift หรือใช้ application เช่น F.lux

หมอแนน

รศ.พญ. มัญชิมามะกรวัฒนะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

bottom of page